
🌷 เอกจรํ จิตดวงเดียวเที่ยวไป
เมื่อพูดถึงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เป็นเรื่องการปฏิบัติธรรมทาง “จิตของตน” มีทางเดียวเท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว (พระพุทธพจน์) เราย่อมต้องศึกษาให้รู้จัก คำว่า “จิต” นั้น คืออะไร? มีสภาวะธรรมเช่นใด ขอยกพระพุทธพจน์ที่เป็นพระบาลีที่ได้ทรงตรัสไว้ชัดๆ ว่า
ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ
สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา
ผู้ใดสำรวมจิตซึ่งมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลๆ ได้
ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำเป็นที่อาศัย นี้ไว้ได้แล้ว
ผู้นั้นย่อมพ้นจากการพันธนาการของมาร (คือกิเลส) ได้
จากพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพื่อเป็นการพิจารณาให้รอบคอบ และเพื่อป้องกันความสับสนที่จะเกิดขึ้นในภายหลังในเรื่องของ “จิต” เนื่องจากจิตเองไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้ แต่มีรูปร่างกายเนื้อเป็นที่อยู่อาศัย (ถ้ำ) จิตผู้รู้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในทุกๆ คน คนละดวง ส่วน “จิตมาร หรือ สังขารมาร” มีอยู่มากมายเป็นร้อยดวง (หลวงปู่สิม พุทธจาโร) จิตดังกล่าวนี้เราเรียกว่า “จิตสังขารหรืออาการของจิต” นั่นเอง
ที่เราสามารถพูดได้ว่า ใครมี “จิตใจดีงาม หรือ จิตใจต่ำช้าเลวทราม” นั้น เกิดจากการเราที่ได้สังเกตเห็นอาการของจิต (จิตสังขาร) ที่แสดงออกมาให้เห็นทางกาย วาจา ใจ ประจักษ์ชัดด้วยอายตนะภายในของตน
แล้วจะทำอย่างไรล่ะ? จึงจะสำรวมจิตที่มีดวงเดียว เที่ยวไปสู่ทีไกล เปลี่ยนแปรเป็นไปตามอารมณ์ที่มากระทบ อารมณ์ที่เป็นกุศลก็เป็นกุศลจิต อารมณ์ที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศลจิต หรืออัพยากฤต คือจิตยังไม่รู้จักอารมณ์นั้นๆ จึงรู้สึกเฉยๆ ที่เรียกเฉยโง่อยู่
เมื่อพิจารณาตามข้อธรรมที่มีมาในอริยมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธองค์ทรงยกให้ “สัมมาสมาธิ” เป็นใหญ่ แวดล้อมด้วยมรรคอีก ๗ องค์ และมรรคทั้ง ๗ ที่แวดล้อม “สัมมาสมาธิ” อยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงยกให้ “สัมมาทิฐิ” เป็นประธาน (มหาจัตตารีสกสูตร)
การปฏิบัติธรรมกรรมฐานใน “สัมมาสมาธิ” หรือที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา คือการฝึกฝนอบรมสำรวมจิตของตนให้รู้จักปล่อยวางอารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ จนจิตของตนสะอาดบริสุทธิ์หลุดพ้นจากการพันธนาการของมาร (คือกิเลส) นั่นเอง
เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
https://www.facebook.com/DhammaBhut