
จิตไม่ใช่วิญญาณ
ในโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนานั้น ทรงสอนให้
๑. ละความชั่ว
๒. ทำความดี
๓. ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
และพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ล้วนตรัสไว้ว่า
“อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ
การทำจิตให้มีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
การชำระจิตให้บริสุทธิ์นั้น มีทางเดียวเท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว เป็นทางที่จะทำให้จิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
โดยเริ่มลงมือจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) เพื่อให้จิตได้รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา (จิต) ซึ่งต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างมาก เพื่อให้รู้จักสภาวะธรรมของจิต
ตอนเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ นั้น ความที่จิตคุ้นเคยกับการแส่ส่ายออกไปรู้รับอารมณ์ และจิตจะยึดสิ่งที่ออกไปรู้อยู่ท่าเดียวว่า เป็นของๆ ตน (ติดในอารมณ์) ต้องอาศัยความเพียรสร้างสติเพื่อน้อมนำจิตที่ชอบแส่ส่ายออกไปยึดอารมณ์กลับมาสู่ฐาน
“ฐาน” ในที่นี้คือ กรรมฐาน หรือฐานที่ตั้งของสติที่กำหนดไว้อันปราศจากกาม เป็นที่ๆ ควรแก่การงานทางจิต
เมื่อจิตคุ้นเคยกับฐานที่ตั้งของสติ จนกลายเป็นฐานเดิมที่จิตคุ้นเคยแล้วนั้น จะเป็นกรรมฐานของสติ ที่เห็นพระไตรลักษณ์ได้ชัดเจนจากกายสังขาร จิตก็จะคล่องแคล่วและชำนาญ รวดเร็วในการน้อมนำจิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิ
จนกระทั่งจิตสงบมีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่อขันธ์ ๕ จิตย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เมื่อจิตเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตย่อมเกิดญาณหยั่งรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า จิตไม่ใช่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และวิญญาณก็ไม่ใช่จิต
เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
https://www.facebook.com/DhammaBhut